วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ครูคือผู้สร้างโลก

"ครูที่แท้จริง"
ทำงานเพื่อช่วยโลก เพื่อยกโลก เพื่อสร้างโลก
ไม่ได้ทำเพื่อเงินเดือน
* พุทธทาสภิกขุ

หัวข้อที่จะบรรยายในวันนี้คือ ครูคือผู้สร้างโลก

ก่อนอื่นขอตั้งคำถามว่า ครูคือใคร? ถ้าดิฉันส่งกระดาษให้คนละแผ่น เชื่อว่าคงจะได้รับคำตอบต่างๆ กัน

บางท่านอาจจะตอบว่า "ครูคือผู้ถ่ายทอด ความรู้ให้กับผู้อื่น" ถ้าครูคือผู้ถ่ายทอดความรู้ ครูก็คงไม่ต่าง ไปจากเทปหรือวิดีโอ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ มันช่างดูไม่มีชีวิตจิตใจเอาเสียเลย

อีกท่านหนึ่งอาจจะตอบว่า "ครูคือคนสอนหนังสือ" ฟังแล้วรู้สึกอย่างไรในหัวใจ ตอนที่เราตัดสินใจ เข้ามาเรียน วิชาครูในวิทยาลัยครูหรือมหาวิทยาลัยนั้น เราคงไม่ได้ตั้งใจจะมาเป็นเพียงแค่ คนสอน หนังสือ พูด ตรงๆ มันต่ำต้อยเกินไป เพราะเกือบจะบอกได้ว่า ใครๆ ก็เป็นได้ คนที่อ่านหนังสือออก ก็สอนหนังสือได้ คือสอนให้เพียงอ่านออก ท่านผู้เป็นครูอาจารย์ก็ย่อมทราบว่า "อ่านออก" กับ "อ่านเป็น" ไม่เหมือนกัน

อ่านออก คืออ่านตามสระพยัญชนะ อ่านไปเหมือนนกเหมือนกา แต่อ่านเป็น จะอ่านถึงสิ่งที่ผู้เขียน ซ่อนเอาไว้ ในระหว่างบรรทัด ซึ่งมิได้ปรากฏออกมา เป็นตัวหนังสือ ความหมายอันสำคัญ ของเรื่องราว ที่อ่านอยู่ตรงนั้น คนอ่านเป็นอ่านได้ทะลุปรุโปร่ง พออ่านจบก็จะได้อะไรที่มันติดใจ ให้นำมาคิด วิเคราะห์ หรือวิจารณ์ เปรียบเทียบ หรือหยิบเอามาจดจำไว้เป็นสิ่งประทับใจ ไม่ใช่อ่านจบ ๕๐๐ หน้า แล้วไม่ได้อะไร มีแต่ความว่างเปล่า ที่ไม่มีสาระแก่นสาร

ครูจึงมิได้เป็นเพียงแค่คนสอนหนังสือ แต่ครูเป็นมากกว่านั้น

# ความหมายของคำว่า "ครู"
ครูคือผู้เป็นที่พึ่ง ในตำบลหมู่บ้านในชนบท เมื่อชาวบ้านมีปัญหาอะไร ก็มักจะไปหาครู ไปถาม ไปขอให้ ช่วยตัดสิน ว่าอะไรผิดอะไรถูก เพราะเขามีความมั่นใจว่า ครูเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ พร้อมด้วย ความเมตตากรุณา ยินดีที่จะช่วยเหลือแนะนำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นที่พึ่ง ซึ่งจะให้คำปรึกษาหารือ แก่เขาได้ นี่เป็นเกียรติของครูที่ควรแก่การภาคภูมิใจ

ครูคือผู้เปิดประตูคอก เจ้าประคุณท่านอาจารย์สวนโมกข์ท่านใช้คำพูดว่า ครูเป็นผู้เปิดประตูคอก ที่ขังสัตว์ ไว้ในความมืด ให้ได้ออกไปสู่แสงสว่าง หรือเป็นผู้เปิดประตูคุกแห่งอวิชชา ให้สัตว์ออกมา เสียจากความโง่เขลา

ครูคือผู้ฝึก นอกจากนั้นท่านยังเห็นว่า ครูคือผู้ฝึก เป็นดังสารถีผู้ฝึกสัตว์ให้เชื่อง เหมือนอย่างนายสารถี ผู้ขับรถม้าหรือเกวียน ครูจึงต้องเป็นผู้มี ความเมตตาปรานี ไม่ใช้อำนาจดึงดันเอาแต่ใจของตัว เพราะการฝึกโดยการฟาดฟันลงไปด้วยแส้ ด้วยไม้ ด้วยตะขอสับนั้น ก็แน่นอนที่สุดว่า ย่อมจะไม่ได้รับ ความรัก ความจงรักภักดีจากสัตว์ที่ตนฝึก มันยอมให้ก็เพราะกลัว สบโอกาสเมื่อใดก็ต่อต้าน

ครูคือผู้ให้แสงสว่าง ให้ความรู้แก่ศิษย์อย่างทั่วถึง ทั้งวิชาการทางโลก และวิชชาอันเป็นปัญญาด้านใน

ครูจึงต้องศึกษา ฝึกฝน อบรมตนเองให้พร้อมทั้งวิชาและวิชชา วิชานั้นเรียนรู้จาก ตำรา ครูอาจารย์ และ ประสบการณ์ได้ แต่วิชชาจะเกิดขึ้นได้ ต้องมาจากการศึกษาด้านใน ด้วยการหมั่นมองดู ใคร่ครวญ ถึงสิ่งอันเป็นสัจธรรม

กฎธรรมชาติที่มนุษย์ทุกคนควรรู้คือ "ประกอบเหตุอย่างใด ผลอย่างนั้น" ถ้าเห็นความจริงข้อนี้ เมื่อมีปัญหา เกิดขึ้นก็จะมีปัญญาพิจารณา รู้ว่าควรแก้ไขอย่างไร จึงจะเป็นการกระทำที่ถูกต้อง และเมื่อได้ประกอบเหตุปัจจัยในส่วนของเรา อย่างเต็มความสามารถ แล้วก็สบายใจ ภาคภูมิใจได้ ส่วนผล จะเป็นอย่างไรนั้น ต้องยอมรับว่ายังมีเหตุปัจจัยอื่นๆ เป็นส่วนประกอบอีก

หากสามารถรักษาความเป็นปกติของจิตไว้ได้อย่างนี้ พอมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ก็จะไม่ไปเที่ยวโทษคนนั้น คนนี้ สิ่งโน้นสิ่งนี้ เกิดสัมมาทิฏฐิเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ครูคือผู้นำทางจิตวิญญาณ ที่จะนำพาศิษย์ไปในทิศทางที่ถูกต้อง ด้วยการพัฒนาจิตให้เกิดสัมมาทิฏฐิ มีความคิด ความเห็นที่ถูกตรง อันจะนำไปสู่การคิด พูด และทำในสิ่งที่ถูกต้อง

ดิฉันประทับใจในคำพูดของท่านอาจารย์ สวนโมกข์ ท่านกล่าวว่า คนมีบุญคือคนที่เกิดในตระกูลที่มี สัมมาทิฏฐิ ในสายตาของคนทั่วไป คนมีบุญ คือคนมีหน้ามีตา มีทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง เกียรติยศ พร้อมมูลในเรื่องของวัตถุ แต่สิ่งเหล่านี้คงทนถาวรอยู่ได้ตลอดไปไหม? เราก็คงเคยเห็น หลายครอบครัว หลายตระกูล ที่ดูเหมือนว่าทรัพย์สินที่มี กินใช้ไปเป็นร้อยปีก็ไม่หมด แต่แล้วก็ต้องสูญสิ้น ล้มละลายไป นั่นเพราะเหตุใด? ก็เพราะ ไม่รู้จักใช้ ไม่รู้จักรักษา ไม่รู้จักกำจัดสิ่งที่จะมาบ่อนทำลาย แต่ครอบครัว ที่มีสัมมาทิฏฐินั้น แม้บ้านช่อง อาจจะไม่โอ่โถงใหญ่โต พ่อแม่ไม่ได้มี อำนาจวาสนาอะไรมากมาย แต่เป็นผู้ประพฤติตนอยู่ในหนทางที่ถูกต้อง เลี้ยงดูครอบครัว ให้ลูกได้มีการศึกษาเล่าเรียน ตามควรแก่ฐานะ อบรมสั่งสอน ให้ลูกเป็นคนดี ครอบครัวก็อยู่เป็นสุข

ฉะนั้น ความเป็นครูจึงเป็นของหนัก ครูที่แท้จริงจึงเป็นผู้ควรแก่การเคารพสักการะ ควรแก่การบูชา เป็น ปูชนียบุคคล ผู้เป็นที่พึ่ง และผู้นำ ทางจิตวิญญาณแก่สังคม

# คุณสมบัติของผู้เป็นครู
ครูควรมีคุณสมบัติอย่างไร
๑. มีความเมตตากรุณาอย่างแท้จริง คือเมตตากรุณาโดยไม่หวังผลตอบแทน ไม่คิดทวงคืนจากศิษย์ กระทำอย่าง ไม่ขาดตอนและไม่ลดละ ทำเพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องควรทำ ให้เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ ควรให้ ไม่ว่าจิตใจของครู ในขณะนั้น จะเป็นอย่างไร บ่อของความเมตตา กรุณา ในใจของครู ยังมั่นคง เต็มเปี่ยม พร้อมที่จะเผื่อแผ่ไหลหลั่ง เจือจานลูกศิษย์ได้เสมอ

๒. มีความเป็นกัลยาณมิตรต่อศิษย์ตลอดชีวิต กัลยาณมิตร แปลตามตัวก็คือ เพื่อนที่ดี สมเด็จ พระสัมมา สัมพุทธเจ้า ท่านรับสั่งเสมอว่า ผู้ใด มีพระองค์ท่าน เป็นกัลยาณมิตร ผู้นั้นจะมีชีวิตรอด ความรอดนั้นคือรอดจากความทุกข์ รอดจากสิ่งที่เป็นปัญหา

ไม่ว่าศิษย์จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ทำงานการมีตำแหน่งหน้าที่อย่างใด ครูก็ยังห่วงใยติดตาม ด้วยความหวังดี ไม่ว่าศิษย์ จะเป็นคนอย่างไร จะไปประกอบอาชีพใด มีชีวิตหักเหอย่างไร ถ้าได้ทราบว่า ลูกศิษย์ไปตกอยู่ในอันตราย หรือตกอยู่ในความเขลา หรือกำลัง คิดจะทำอะไรที่ผิด ครูซึ่งเป็น กัลยาณมิตร ของศิษย์ จะให้คำแนะนำ ตักเตือน ว่ากล่าว แต่หากลูกศิษย์ไปดี เจริญก้าวหน้า ทำตน เป็นประโยชน์แก่สังคม ครูก็อนุโมทนา ชื่นชมยินดี แม้ลูกศิษย์ จะไม่ทราบ แต่ครูก็ชื่นใจ และมีสิทธิ ที่จะรู้สึกเช่นนั้นได้

๓. มีความซื่อตรงต่ออุดมคติของความเป็นครู ในฐานะที่เรายังเป็นปุถุชน บางครั้งก็เกิดความหวั่นไหว เพลี่ยงพล้ำ ศรัทธาที่มีต่ออุดมคติ ที่ตั้งไว้ก็คลอนแคลนไปบ้าง เพราะเหตุปัจจัยบางอย่างชวนให้ท้อแท้ เหน็ดเหนื่อย สิ้นหวัง หมดกำลังใจ แต่ครูต้องมีเจตนารมณ์ ที่แน่วแน่ ในการมุ่งสร้างสังคม สร้างชาติ บ้านเมือง ด้วยการสร้างเด็กให้เป็นพลเมืองดี ผลพลอยได้ก็คือการสร้างโลกให้น่าอยู่ หากครูสิ้นหวัง เสียอาชีพเดียว โลกจะล้มละลาย สภาวะของสังคมที่เป็นอยู่ทุก- วันนี้ ก็เพราะความอ่อนแอของครู บางส่วน ที่จิตวิญญาณของความเป็นครู ไม่เข้มแข็งพอ

๔. อดทนและเสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว ผู้เป็นครูไม่สามารถปฏิเสธการร่วมรับผิดชอบในความเสื่อมหรือ ความเจริญ ของสังคม ที่เกี่ยวข้องได้ เราปฏิเสธไม่ได้เลย ว่าสภาวะของสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่ผลิตผลของการศึกษา และเราพอใจแล้วหรือยัง แม้จะรู้สึกเหน็ดเหนื่อย และมีภาระส่วนตัว มากเพียงใด ครูก็ยังคงต้องเป็นผู้เสียสละ เห็นแก่ธรรมะ และความถูกต้องของสังคม

๕. เป็นเสมือนประภาคารหรือดวงประทีปของศิษย์ ครูเป็นผู้อบรมพัฒนาจิตของศิษย์ให้มีสติปัญญา อันถูกต้อง เป็นสัมมา ทิฏฐิ ในทางธรรม ท่านเปรียบความสำคัญของสัมมาทิฏฐิว่า เป็นเสมือนเข็มทิศ แผนที่ รุ่งอรุณ หรือดวงประทีปส่องทาง เพราะสติปัญญา ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ จะช่วยไม่ให้ชีวิตนั้น หลงทาง จะรู้ว่าอะไรคือความถูกต้อง แม้มีปัญหาอุปสรรคเกิดขึ้น ก็แก้ไขได้ด้วยสติปัญญา

๖. เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ศิษย์ ครูต้องสามารถกระทำได้อย่างที่สอนศิษย์ ใครจะทำอย่างไรก็ช่างเขา แต่ผู้เป็นครู จะต้องมีจุดยืน ให้เห็นว่า นี่คือความถูกต้อง ถ้าลูกศิษย์ ไปประสบปัญหาชีวิต แล้วกลับมา หาครูเพื่อขอคำปรึกษา ครูต้องยืนอยู่บนความถูกต้อง ต้องชี้ให้ลูกศิษย์เห็น และกลับไปสู้ใหม่ ด้วยความถูกต้อง โดยธรรม นี่คือวิธีที่เราจะยกฐานะของสังคมให้เป็นโลกของมนุษย์ มิใช่เป็นเพียง โลกของคน

# # # หน้าที่ของครูต่อสังคม
หน้าที่โดยตรงของครูคือการสั่งสอนอบรมให้เด็กมีความรอบรู้ ความรู้ในวิชาการทางโลกนั้น เห็นจะ ไม่จำเป็น ต้องพูดกันในที่นี้ แต่ความรู้ ที่จะทำให้เขารู้จัก ที่จะพัฒนาจิต รักษาจิต สร้างสรรค์จิต ให้อยู่ในสภาวะที่ควบคุมได้ เพื่อเวลาที่เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ จะได้เป็นผู้ใหญ่ที่แท้จริง ไม่ได้เป็น แต่เพียง อายุ ความรู้อย่างนี้เป็นสิ่งที่ครูควรจะได้ศึกษาและนำมาถ่ายทอดแก่เด็ก

เมื่อเรามองไปรอบๆ ตัวก็จะเห็นได้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมทุกวันนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากคน ที่เป็นผู้ใหญ่ แต่อายุ จิตใจยังไม่ได้ รับการพัฒนา ทำไมจึงไม่ได้รับ การพัฒนา ทั้งๆ ที่มีวิชาความรู้ จบปริญญาตรี โท เอก กันมาตั้งมากมาย ก็เพราะจิต ที่เรียกว่า spiritual growth ยังไม่เกิดขึ้น

spiritual growth คือ การพัฒนาอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดให้เป็นไปอย่างถูกต้อง พ่อแม่เอาลูกมาฝากครู ก็หวังพึ่ง ตรงนี้ หวังว่าครูจะช่วยอบรมสั่งสอน กล่อมเกลาให้ลูกของเขา เปลี่ยนจิตที่คิดผิดให้คิดถูก จากจิตเกเรเป็นจิตที่เรียบร้อย จิตหยาบเป็นจิตประณีต จิตที่เคยกระด้าง ก็อยากให้เป็นจิต ที่อ่อนโยน นี่คือสิ่งที่บรรดาพ่อแม่ ผู้ปกครอง และสังคม หวังว่าจะได้รับจากครู

เมื่อพูดถึงคำว่า "ครู" ก็มีอีกคำหนึ่งแทรกขึ้นมา คือคำว่า "อาจารย์" สังเกตดูโดยทั่วไป ผู้ที่อยู่ในอาชีพนี้ มักจะยินดี กับคำว่าอาจารย์ มากกว่าคำว่าครู หากถูกเรียกว่าครู แทนที่จะเรียกว่าอาจารย์ ก็จะมีความรู้สึก ต่ำต้อยน้อยหน้าขึ้นมาในใจ คำว่าครูจึงกลายเป็นคำเล็กๆ ไปเสียแล้ว เป็นคำที่ไม่มี ความหมายยิ่งใหญ่ เหมือนคำว่าอาจารย์ จนทำให้ความหมายของความเป็นครูเลอะเลือนไป ผู้ที่จิตวิญญาณของความเป็นครู ยังไม่เข้มแข็ง มั่นคง ก็เกิดอาการตะเกียกตะกาย จะต้องเป็น อาจารย์ให้ได้ แล้วก็จะรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เปลี่ยนจากครูมาเป็นอาจารย์ ทั้งๆ ที่หน้าที่ในอาชีพนั้น หาได้แตกต่าง หรือเปลี่ยนแปลงไปไม่ บ้างก็ไปเข้าใจกันว่าอาจารย์เป็นผู้มีวิทยฐานะสูงกว่า มีลักษณะเป็นนักวิชาการมากกว่า และมีอัตราเงินเดือน สูงกว่า

ดิฉันเป็นครูตั้งแต่อายุ ๑๙ ปี เรียกว่าอายุน้อยมากในสมัยนั้น ยังมีความเป็นเด็กอยู่มาก ยังอยู่ในวัยรุ่น ที่ชอบ สนุกสนาน ชอบกิน ชอบเที่ยว ชอบเล่น แต่พอเข้ามาเป็นครู หน้าที่ของความเป็นครู ความรับผิดชอบ มันสอดแทรก ประทับเข้ามา ในหัวใจว่า หน้าที่ของครู จะต้องให้อะไรแก่ลูกศิษย์บ้าง ต้องบังคับใจ ไม่ให้ทำอย่างที่เคยทำ นี่คือความรู้สึกของครู ที่รู้สึกว่าเราต้องเป็นตัวอย่างแก่เขา เราสอนลูกศิษย์อย่างไร เราจะต้องทำอย่างนั้น จะมาทำอะไร ตามใจชอบไม่ได้

ความเป็นครูนั้นตีราคากันไม่ได้ แต่เพราะความนิยมในวัตถุที่วัดความดีไม่ดีกันที่ราคา เราจึงได้ปล่อย ให้มันค่อยๆ กัดกินหัวใจของเราไปทีละน้อยๆ จนค่าของ ความเป็นครูลดลง ผู้เป็นอาจารย์โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง ในมหาวิทยาลัย จึงมีความรู้สึกแต่เพียงว่า การเป็นอาจารย์คือการมาให้วิชาความรู้ มาถึง ก็บรรยายไป สอนไป หมดชั่วโมงก็ออกจากห้อง ความสัมพันธ์ ความผูกพันระหว่าง ลูกศิษย์กับ อาจารย์ ก็ค่อยๆ จางหายไป และมันก็ทำให้คุณค่า และความหมายสำคัญ ในชีวิตของครู ลดน้อย ถอยลงไปด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

It.me

It.me
Sasiwimon Jitkuson